เดิมกัญชาถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผู้ใดปลูก ซื้อ ขาย จำหน่าย สูบ หรือมีไว้ในครอบครองจะถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ทำให้การปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง และเสพกัญชาบางส่วนไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป
สำหรับการยื่นขออนุญาตกัญชา สามารถยื่นขออนุญาตได้ 2 ประเภท ได้แก่ ขออนุญาตปลูกกัญชา และขออนุญาตจำหน่ายกัญชา ซึ่งแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดของขั้นตอนและเอกสารแตกต่างกัน ดังนี้

การขออนุญาตปลูกกัญชา
1. ขั้นตอนการขออนุญาตปลูกกัญชา
- เกษตรกรรวมกลุ่มกันจดทะเบียน
หากเกษตรกรประสงค์ขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ เกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน, วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อรับใบรับรองการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และต้องทำการยื่นคำขออนุญาตร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐ, โรงพยาบาล, หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปรามยาเสพติด, สภากาชาดไทย เพื่อภาครัฐจะให้การสนับสนุนและคำแนะนำในด้านต่างๆ เพื่อให้การปลูกกัญชาเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด
- ยื่นคำขอ
ยื่นคำขออนุญาตปลูกกัญชาพร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สถานที่ปลูกตั้งอยู่ หรือยื่นคำขอผ่านระบบ E-submission
- ตรวจสอบคำขออนุญาต
เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบคำขออนุญาตและเอกสารหลักฐานต่างๆ หากเอกสารไม่ถูกต้องหรือส่งมาไม่ครบ เจ้าหน้าที่จะขอเอกสารเพิ่มเติมและให้เอาเอกสารไปแก้
- ตรวจสอบสถานที่ปลูกกัญชา
เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าสถานที่ปลูกมีความเหมาะสมตามที่ระบุในคำขอหรือไม่ เช่น ขนาดพื้นที่, สภาพแวดล้อม, ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น รวมถึงตรวจสอบว่าสถานที่ปลูกนั้นมีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เช่น การติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด, การจัดทำแนวเขตพื้นที่ปลูก เป็นต้น
- เสนอคณะกรรมการจังหวัดพิจารณา
เจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบเสนอต่อคณะกรรมการจังหวัดเพื่อพิจารณาอนุมัติการขออนุญาตกัญชา
- ขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อคณะกรรมการจังหวัดพิจารณาแล้ว จะเข้าที่ประชุมเพื่อขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด และส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณา
- คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณา
จากนั้นเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
- ออกใบอนุญาต
เสนอเลขาคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงนามในใบอนุญาต โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่เอกสารครบถ้วนและตรวจสถานที่เรียบร้อย
2. เอกสารที่ใช้ขออนุญาตปลูกกัญชา
เอกสารของวิสาหกิจชุมชน
- หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และบัญชีรายชื่อสมาชิกวิสาหกิจชุมชน
- หนังสือมอบหมายให้ดำเนินกิจการแทนวิสาหกิจชุมชน
- หนังสือซึ่งแสดงว่าได้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา
เอกสารอื่นๆ
- แบบคำขอรับอนุญาต (แบบกัญชา 1)
- หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำเนาสัญญาเช่าที่ดิน หรือหนังสือยินยอมให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบุวัตถุประสงค์เพื่อการปลูกกัญชา พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนเจ้าของที่ดิน
- แผนการปลูกกัญชา และแผนการใช้ประโยชน์
- แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ปลูก และเส้นทางการเข้าถึงพร้อมระบุพิกัด GPS ขนาดแปลงปลูก และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
- แบบแปลนอาคารโรงเรือน และภาพถ่ายสถานที่ปลูก
- มาตรการรักษาความปลอดภัย และวิธีการทำลายส่วนของกัญชาที่เหลือจากการใช้ประโยชน์
- หนังสือผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เจ้าหน้าที่จะออกหนังสือให้นำไปยื่นที่ สภอ.เมือง เมื่อเอกสารครบ)
- หนังสือจากหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

การขออนุญาตจำหน่ายกัญชา
1. ขั้นตอนการขออนุญาตจำหน่ายกัญชา
- ยื่นคำขอ
ยื่นคำขออนุญาตจำหน่ายกัญชาพร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือยื่นคำขอผ่านระบบ E-submission
- ตรวจสอบคำขออนุญาต
เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบคำขออนุญาต โดยตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร ความถูกต้องของเอกสาร หากเอกสารไม่ถูกต้องหรือส่งมาไม่ครบ เจ้าหน้าที่จะขอเอกสารเพิ่มเติมและให้เอาเอกสารไปแก้ และเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบสถานที่จำหน่าย พร้อมกับตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้วยว่ามีการแสดงฉลากเป็นไปตามข้อกำหนดของอย.หรือไม่ ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและความปลอดภัยตามที่อย.กำหนดหรือไม่
- เสนอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลงนามในใบอนุญาต
หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขออนุญาตแล้ว จะทำการเสนอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดให้ลงนามในใบอนุญาต ซึ่งขั้นตอนการขออนุญาตจำหน่ายกัญชาจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่เอกสารครบถ้วน
2. เอกสารที่ใช้ขออนุญาตจำหน่ายกัญชา
กรณีจำหน่ายวัตถุดิบพืช
- แบบคำขอรับอนุญาต (แบบกัญชา 5)
- หนังสือผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เจ้าหน้าที่จะออกหนังสือให้นำไปยื่นที่ สภอ.เมือง เมื่อเอกสารครบ)
- แผนการจำหน่ายกัญชา และแผนการใช้ประโยชน์
- แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่จำหน่าย พร้อมระบุพิกัด GPS และเส้นทางการเข้าถึง
- มาตรการรักษาความปลอดภัย และวิธีการทำลายส่วนของกัญชาที่เหลือจากการใช้ประโยชน์
กรณีใช้ในการบำบัดโรค
- แบบคำขอรับอนุญาต (แบบกัญชา 6)
- รูปถ่ายสถานพยาบาล จำนวน 2 รูป โดยรูปที่ 1 เป็นรูปแสดงลักษณะอาคาร รูปที่ 2 เป็นรูปป้าย เลขที่ของสถานที่ตั้ง
- รายชื่อพร้อมหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้สั่งจ่ายยากัญชา ที่กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง
ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากัญชาจะถูกกฎหมายไปทั้งหมด ยังคงมีข้อกำหนดและข้อจำกัดในการใช้งานอยู่ เพื่อควบคุมผลกระทบที่ส่งผลต่อสุขภาพและสังคม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หากเลือกเช่าโกดังสินค้า จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจได้จริงไหม
- ข้อกำหนดสำคัญและเงื่อนไขการเช่าโกดัง อะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึง
- โกดังแช่เย็นหรือโกดังแห้ง คืออะไร ต่างกันยังไงบ้าง
PARK FACTORY ผู้ให้บริการขายโกดัง และให้เช่าโกดังโรงงานสำหรับ SME ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล
หากคุณกำลังมองหาโกดังคลังสินค้า ที่ Park Factory เราเป็นผู้ให้บริการโกดังโรงงานสำหรับ SME ด้วยโครงการสีเขียว สภาพแวดล้อมสวยงามน่าอยู่ ให้ความสำคัญในทุกรายละเอียดของโกดังทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอาคาร หรือ Landscape ออกแบบตามหลักฮวงจุ้ย เพื่อให้ผู้เช่าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด → เข้าชมโครงการ
ช่องทางการติดต่อ PARK FACTORY
ที่ตั้ง : 176 ซอยกาญจนาภิเษก 5 แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160
เบอร์โทรติดต่อ : 092-379-7444, 081-751-4440
อีเมล์ : [email protected]
Google Map : https://maps.app.goo.gl/STYgHNRPHGAZZ6SX8